ข่าวสาร / ความรับผิดชอบต่อสังคม

รัชดา-พระราม9-บางนา-บางซื่อ ย่านธุรกิจแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ

"ในรอบศตวรรษนี้ เราเชื่อว่าจะไม่มีการโยกย้ายศูนย์กลางของเมืองไปยังจุดอื่น เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นนั้นมีศูนย์กลางอยู่ในใจกลางเมือง อย่างไรก็ตาม เมืองหรือศูนย์กลางธุรกิจมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปตามแนวระบบขนส่งมวลชน ดังเช่นย่านรัชดาภิเษก" ริษิณี สาริกบุตร ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวและว่า ย่านธุรกิจแห่งใหม่ๆ จะกำเนิดเกิดขึ้นในย่านที่ระบบขนส่งมวลชนไปถึง ซึ่งจะทำให้กรุงเทพมหานครขยายตัวและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ระบบรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ที่แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2547 มีส่วนสำคัญในการขยายความเจริญไปยังย่านรัชดาภิเษก ทำให้เกิดการพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานหลายๆ โครงการขึ้นในบริเวณแยกรัชดาภิเษกพระราม 9 จนทำให้ย่านดังกล่าวได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะที่เป็นย่านธุรกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตและขยายตัวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ โครงการพัฒนาอาคารสำนักงานคุณภาพสูง อาทิ อาคารจีแลนด์ ทาวเวอร์ อาคารเดอะซุปเปอร์ ทาวเวอร์ ซึ่งจะเป็นอาคารสูง 615 เมตร สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งอาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ (AIA Capital Centre) ล้วนมีส่วนช่วยกระตุ้นอุปสงค์จากบริษัทต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ต้องการจะย้ายสำนักงานไปอยู่ในย่านรัชดาภิเษก-พระราม 9 นี้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ยูนิลีเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ย้ายสำนักงานไปยังพื้นที่ดังกล่าวแล้วในปีนี้
          ทั้งนี้ นอกจากปริมาณอุปทานด้านสำนักงานที่มีคุณภาพแล้ว รัชดาภิเษกยังเป็นย่านที่มีเส้นทางการคมนาคมที่เชื่อมต่อกับย่านศูนย์กลางธุรกิจ กอปรกับถนนรัชดาภิเษกและถนนพระราม 9 ที่เชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ ฝั่งเหนือ และกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้อัตราค่าเช่าพื้นที่สำนักงานในย่านนี้ยังมีการแข่งขันกันสูงมากอีกด้วย
          "ริษิณี" กล่าวเสริมว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา บางนาก็ถือว่าเป็นอีกย่านหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองระดับย่อยแห่งใหม่ ซึ่งสามารถเดินทางเข้าถึงได้อย่างง่ายดายด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (บีทีเอส) ณ สถานีอุดมสุข บางนายังเป็นย่านที่เชื่อมต่อกับแหล่งนิคมอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออกผ่านทางด่วนบางนา ซึ่งสร้างแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 รวมทั้งเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ ฝั่งใต้ผ่านทางมอเตอร์เวย์ ซึ่งสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2550 บางนาได้ดึงดูดนักพัฒนาโครงการสำนักงานต่างๆ เช่น โครงการภิรัช ทาวเวอร์ ที่ไบเทค ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2559 และโครงการ เอสเจ อินฟินิท 2 บนถนนบางนา กม.8 ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
          นอกจากนี้ เดอะมอลล์กรุ๊ปยังได้ประกาศสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่าแบงค็อก มอลล์ (Bangkok Mall) โดยจะตั้งอยู่บนพื้นที่รวมกว่า 100 ไร่ โครงการดังกล่าวประกอบด้วยพื้นที่สำหรับการประกอบธุรกิจ โครงการที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน สวนสนุกและสวนน้ำ ขณะเดียวกัน บางนายังเป็นย่านบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสนามบิน และโลจิสติกส์ ตลอดจนบริษัทที่มีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทางชายฝั่งทะเลตะวันออก ต่างให้ความสนใจอีกด้วย
          อีกทั้งการย้ายที่ตั้งศูนย์กลางของสถานีรถไฟของกรุงเทพฯ จากหัวลำโพงไปยังสถานีกลางบางซื่อ ได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบเขตบางซื่อ สถานีกลางตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,176 ไร่ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งหลักของกรุงเทพฯ โดยมีการเชื่อมต่อกับรถประจำทางสายต่างจังหวัดและเชื่อมโยงกับทางรถไฟและสถานีรถไฟใต้ดิน นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟฟ้า 4 สาย คือ สายเหนือ สายใต้ สายตะวันออก และสายตะวันตกของกรุงเทพฯ จะมาเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่ออีกด้วย บางซื่อยังอยู่ใกล้กับศูนย์กลางเชิงพาณิชย์หลายแห่ง เช่น เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว และตลาดนัดจตุจักร โครงการคอนโดมิเนียมยังได้รับการพัฒนาขึ้นจำนวนมากด้วยเช่นกัน เนื่องจากย่านดังกล่าวนี้มีเส้นทางคมนาคมหลายเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังส่วนต่างๆ ของกรุงเทพฯ
          "ย่านบางซื่อมีการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และยังมีศักยภาพสูงในการซื้อขายและลงทุนด้านคอนโดมิเนียมอีกด้วย"
          ศูนย์กลางของเมืองในกรุงเทพฯ จะขยายตัวออกไปยังพื้นที่ที่ติดกับใจกลางเมือง ผู้คนส่วนมากสะดวกใจที่จะอาศัยอยู่ในส่วนใดในเมืองก็ได้ แค่เพียงมี ระบบขนส่งมวลชนที่บริการครอบคลุมทุกพื้นที่กรุงเทพฯ จึงเชื่อว่าใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ ยังคงจะไม่มีการโยกย้าย แต่จะกระจายตัวไปตามย่านต่างๆ ที่มีการคมนาคมสะดวก ระบบขนส่งมวลชนเข้าถึง มีโครงการที่อยู่อาศัย และโครงการเชิงพาณิชย์ที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในพื้นที่นั้นๆ
BACK