นักลงทุนสัมพันธ์
ข้อมูลองค์กร
บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยบริษัทฯ เชื่อมั่นว่าการบริหารความเสี่ยงเป็นกลไกสำคัญในการบริหารให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ตระหนักถึงอุปสรรคหรือภัยคุกคามที่ยังมาไม่ถึง ลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงเกิดการปรับปรุงระบบงานและการวางแผนงานให้สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัทฯ จึงมีการนำระบบการบริหารความเสี่ยงในองค์กร (Enterprise Risk Management) ที่ดีและมีประสิทธิภาพมาปฏิบัติใช้ในบริษัทฯ เพื่อสร้างเสถียรภาพการดำเนินธุรกิจในระยะยาวและเกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทฯ และสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงมุ่งพัฒนาและสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยกำหนดนโยบายและแผนการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งการวิเคราะห์ปัจจัยความเสี่ยงที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ดังต่อไปนี้
บริษัทฯ กำกับดูแลความเสี่ยงผ่านการกำหนดนโยบายและแผนการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญอย่างครอบคลุม บริษัทฯ กำหนดให้ทุกคน ได้แก่ คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงาน เป็นเจ้าของความเสี่ยง ทำหน้าที่รับผิดชอบในการ วิเคราะห์ ประเมินโอกาสเกิดและผลกระทบ และกำหนดมาตรการในการป้องกัน ควบคุม และบรรเทาความเสี่ยงที่อาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนกลยุทธ์บริษัทฯ ตลอดจนติดตามสถานการณ์ความไม่แน่นอน แนวโน้มที่สำคัญ และเหตุปัจจัยความเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งส่งเสริมให้นำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารความเสี่ยง สนับสนุนให้บุคลากรสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการบริหารความเสี่ยงอย่างทั่วถึง ตลอดจนสามารถรายงานการบริหารความเสี่ยงให้ผู้บริหารและ คณะกรรมการบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ
คณะกรรมการบริษัทมีความรับผิดชอบโดยรวมในการจัดให้มีและควบคุมกรอบการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ โดยจัดตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ซึ่งมีกรรมการอิสระเป็นประธานกรรมการ และมีรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารระดับสูงเป็นสมาชิก รับผิดชอบในการกำหนดและกำกับดูแลให้เกิดการปฏิบัติตามนโยบายความเสี่ยงและแนวทางการจัดการความเสี่ยง และรายงานการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งผนวกการบริหารความเสี่ยงเข้ากับการดำเนินงานปกติ และส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร
นอกจากนี้ บริษัทฯ กำหนดให้สำนักตรวจสอบภายในทำหน้าที่ทวนสอบกิจกรรมสำคัญขององค์กร โดยคำนึงถึงระดับความเสี่ยงของหน่วยงาน และกิจกรรมการดำเนินงาน รวมทั้งนำผลการตรวจประเมินของสำนักตรวจสอบภายในเป็นข้อมูลในการระบุและวิเคราะห์ความเสี่ยงสำคัญของบริษัทฯ โดยให้รายงานผลการปฏิบัติงานและการทวนสอบกิจกรรมสำคัญตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล (Audit and Corporate Governance Committee)
บริษัทฯ บูรณาการการบริหารความเสี่ยงร่วมกับกลยุทธ์และผลการปฏิบัติงาน ตามกรอบโครงสร้างการบริหารความเสี่ยงขององค์กร (COSO ERM Framework 2017) ภายใต้หลักการ 5 ประการที่สัมพันธ์กัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างและรักษาคุณค่าเพิ่มให้แก่องค์กร ได้แก่
บริษัทฯ ใช้ประโยชน์จากระบบสารสนเทศ เทคโนโลยี และช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการบริหารความเสี่ยงขององค์กร รวมทั้งรายงานข้อมูลความเสี่ยง ข้อมูลผลการปฏิบัติงาน และรายงานผลการบริหารความเสี่ยงต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม
บริษัทฯ วิเคราะห์ปัจจัยความเสี่ยงที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยคำนึงถึงปัจจัยภายในและภายนอกที่สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจ เป้าหมาย และกลยุทธ์ขององค์กร พิจารณาโอกาสและผลกระทบของเหตุการณ์ที่อาจส่งผลต่อธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อระบุความเสี่ยงสำคัญของบริษัทฯ กำหนดแผนจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อกำกับให้ความเสี่ยงต่าง ๆ อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยมีปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญดังต่อไปนี้
2.2.1 ความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
จากวิสัยทัศน์ เป็นหนึ่งในผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ในรูปแบบอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกที่มีคุณภาพเพื่อให้เช่า โครงการที่พักอาศัยประเภทบ้านเดี่ยวและอาคารชุดพักอาศัยแก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายตามแต่ละระดับราคาและความต้องการ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มลูกค้าโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ ได้ทบทวนความเสี่ยงสำคัญของปีที่ผ่านมา ร่วมกับความท้าทายและโอกาสที่จะเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีความผันผวน ปัญหาการเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้ง และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทั้งจากการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในประเทศฝั่งตะวันตก วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน และภาวะสงครามในหลายภูมิภาค เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออก ทำให้เม็ดเงินที่เข้ามาหมุนเวียนในประเทศลดลง และการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และการลงทุนของต่างชาติมีการชะลอตัวลงจากสภาวะเศรษฐกิจของปีที่ผ่านมา
บริษัทฯ พิจารณาความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญทั้งในปัจจุบันและที่เกิดขึ้นใหม่ ในแง่การประกอบธุรกิจ การดำเนินงาน ฐานะการเงิน และความยั่งยืนของบริษัทฯ โดยการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่
|
ความเสี่ยงหลักในการ |
ความเสี่ยงด้าน |
1. ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขัน |
/ |
|
2. ความเสี่ยงด้านการเติบโตของรายได้และผลกำไร |
/ |
|
3. ความเสี่ยงด้านการโจมตีทางไซเบอร์ |
/ |
|
4. ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย |
/ |
|
5. ความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน |
/ |
|
6. ความเสี่ยงที่เกิดใหม่ |
||
6.1 ความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ |
/ |
1. ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขัน
หมวดหมู่ความเสี่ยง : ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์
ที่มาและลักษณะของความเสี่ยง : จากสภาพตลาดที่มีการแข่งขันสูง ทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ มีการพัฒนาหรือปรับปรุงโครงการอย่างต่อเนื่องในธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งแนวโน้มการทำงานแบบ Hybrid Workplace ทำให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่าเกิดการชะลอตัว ในส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ความต้องการที่อยู่อาศัยยังคงมีสภาพหดตัว โดยเฉพาะโครงการแนวราบ ประกอบกับอัตราการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง จากหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง ทำให้เกิดความท้าทายในการรักษาความสามารถในการแข่งขันและรักษาผลประกอบการที่ดีของผู้ประกอบการ
ผลกระทบต่อบริษัทฯ : จากสภาพการแข่งขันที่เข้มข้นและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างจำกัด ทำให้บริษัทฯ เกิดความเสี่ยงในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน การปรับตัวรองรับความต้องการและคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ซึ่งอาจทำให้ผลดำเนินงานของบริษัทฯ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย : จากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงส่งเสริมให้ตลาดเป็นของผู้เช่า ทำให้ผู้เช่ามีความสามารถในการเจรจาต่อรองเงื่อนไขการเช่าเพิ่มขึ้น
มาตรการจัดการความเสี่ยง : บริษัทฯ ได้กำหนดกลยุทธ์และแนวทางการจัดการความเสี่ยงของธุรกิจดังกล่าว ได้แก่
ธุรกิจอาคารสำนักงาน
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย
จากการดำเนินงานตามแผนจัดการความเสี่ยงดังกล่าว ส่งผลให้ผลประกอบการของธุรกิจอาคารสำนักงานและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ผลประกอบการด้านรายได้สูงกว่าปีที่ผ่านมา และบรรลุเป้าหมายตามที่วางแผนไว้
2. ความเสี่ยงด้านการเติบโตของรายได้และผลกำไร
หมวดหมู่ความเสี่ยง : ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์
ที่มาและลักษณะของความเสี่ยง : จากเป้าหมายการเติบโตของรายได้บริษัทฯ เฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี ในช่วงปี 2567-2571 ผ่านการลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาโครงการแบบผสมผสาน (Mixed-use precincts) และโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการขายบนที่ดินของบริษัทฯ มากกว่า 130 ไร่ จากการพัฒนาโครงการใหม่หลายโครงการในภาวะเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวในระดับต่ำ การแข่งขันในตลาดสูง และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้บริษัทฯ เกิดความเสี่ยงด้านการเติบโตของรายได้และผลกำไรจากการพัฒนาโครงการใหม่
ผลกระทบต่อบริษัทฯ : เป้าหมายการเติบโตในสภาพการแข่งขันที่รุนแรงและเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย อาจส่งผลให้โครงการใหม่มีผลดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผน หรือไม่ตรงตามความคาดหวังของลูกค้าและคู่ค้า หากขาดการวางแผนและเตรียมการอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ
ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย : การเติบโตและขยายธุรกิจของบริษัทฯ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้คู่ค้าเกิดการพัฒนาสินค้าและบริการตามความเชี่ยวชาญ ช่วยให้คู่ค้าสามารถขยายธุรกิจไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ พื้นที่ใหม่ เป็นการเติบโตไปพร้อมกันกับบริษัทฯ
มาตรการจัดการความเสี่ยง : บริษัทฯ มีการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าโครงการหรือธุรกิจใหม่จะประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ได้แก่
3. ความเสี่ยงด้านการโจมตีทางไซเบอร์
หมวดหมู่ความเสี่ยง : ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน
ที่มาและลักษณะของความเสี่ยง : เทคโนโลยีมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นแรงขับสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและการแข่งขันในอุตสาหกรรม บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมในยุคดิจิทัล รวมทั้งการบริหารภายในองค์กรที่อาศัยระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีความหลากหลายและซับซ้อน ทำให้บริษัทฯ อาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสารสนเทศและข้อมูลเพิ่มขึ้น ทั้งที่เกิดจาก การใช้ระบบความปลอดภัยสารสนเทศที่ล้าสมัย การขาดความรู้ความเข้าใจของบุคลากร และขั้นตอนการดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถโจมตีระบบงานหลัก เข้าถึงข้อมูลสำคัญและข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในระบบต่าง ๆ ของบริษัทฯ
ผลกระทบต่อบริษัทฯ : การโดนโจมตีทางไซเบอร์ อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ รวมทั้งอาจทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญ ซึ่งจะกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ อย่างรุนแรง หากจัดการเหตุอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย : การโดนโจมตีทางไซเบอร์อาจนำมาซึ่งข้อมูลสำคัญและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้มีส่วนได้เสีย อาจเกิดการรั่วไหลได้
มาตรการจัดการความเสี่ยง : บริษัทฯ ตระหนักและให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านไซเบอร์ โดยพัฒนาและปรับปรุงระบบความปลอดภัยสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
บริษัทฯ ยังคงมุ่งให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่บุคลากรทั่วทั้งองค์กร ได้แก่ การอบรมให้ความรู้ผ่าน Awareness Training 5 หลักสูตร ได้แก่ General phishing, Data protection, Cybersecurity awareness, Social networking และ Physical security การออกสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์และผลกระทบ การทดสอบอีเมลหลอกลวง (Phishing mail testing) เพื่อสร้างความตระหนักและพัฒนาการรับมือเมื่อเกิดเหตุ
4. ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย
หมวดหมู่ความเสี่ยง : ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน
ที่มาและลักษณะของความเสี่ยง : การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งการพัฒนาโครงการ การบริหารอาคารสถานที่ และการดูแลอำนวยความสะดวกลูกค้าและผู้มาใช้บริการ เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายกลุ่มทั้งลูกค้า พนักงาน พนักงานผู้เช่า ผู้รับเหมา และพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งหากเกิดความไม่ปลอดภัยในสถานประกอบการ ทั้งจากการก่อสร้างที่อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้น การขาดมาตรฐานความปลอดภัยในสถานที่ หรือการจัดการระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอ อาจนำไปสู่การสูญเสียและ ผลกระทบในด้านต่าง ๆ
ผลกระทบต่อบริษัทฯ : การบริหารด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุนำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งอาจทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ หยุดชะงัก หรือสูญเสียชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ ได้
ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย : เหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้น อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อพนักงาน ผู้เช่า คู่ค้า หรือ ลูกค้าที่ปฏิบัติงาน หรือมาใช้บริการในสถานประกอบการของบริษัทฯ ยังอาจส่งผลกระทบ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชุมชน โดยรอบ อาทิ เหตุการณ์ไฟไหม้ที่อาจนำไปสู่ความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สิน
มาตรการจัดการความเสี่ยง : บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นในการจัดการความเสี่ยงนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย จึงมีมาตรการต่าง ๆ ดังนี้
5. ความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน
หมวดหมู่ความเสี่ยง : ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน
ที่มาและลักษณะของความเสี่ยง : การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และพันธมิตรทางธุรกิจ อาจส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ เช่น ลูกค้า พนักงาน และชุมชนรอบข้าง โดยเฉพาะในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิ เช่น การบังคับใช้แรงงาน การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือการเลือกปฏิบัติ การบริหารความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยต้องคำนึงถึงข้อกำหนดทางกฎหมาย แนวปฏิบัติสากลที่เกี่ยวข้อง และหลักธรรมาภิบาลที่ดีมีจริยธรรมของบริษัทฯ
ผลกระทบต่อบริษัทฯ : การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ พนักงาน พนักงานผู้เช่า ผู้รับเหมา หรือผู้รับจ้างช่วง อาจส่งผลให้เกิดการร้องเรียน การต่อต้านของคู่ค้าและลูกค้า จนเป็นเหตุให้เกิดการหยุดชะงักทางธุรกิจ การสูญเสียชื่อเสียงภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสีย
ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย : การดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความเท่าเทียมทั้งในที่ทำงาน ในชุมชนและสังคม เป็นการช่วยสร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ยอมรับความหลากหลาย เกิดการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน รับฟังความคิดเห็นและไม่เลือกปฏิบัติทั้งที่มีความแตกต่าง หากบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยขาดการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน อาจส่งผลให้ผู้มีส่วนได้เสียเกิดความไม่พอใจ สูญเสียความเชื่อมั่น และขาดความไว้วางใจต่อบริษัทฯ ได้
มาตรการจัดการความเสี่ยง : บริษัทฯ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบายและแนวปฏิบัติด้านการเคารพกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน โดยสนับสนุนและเคารพการปกป้องสิทธิมนุษยชนของพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ หรือชุมชน โดยดูแลมิให้ธุรกิจของบริษัทฯ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ไม่สนับสนุนการบังคับใช้แรงงาน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก ให้ความเคารพนับถือและปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายด้วยความเป็นธรรมบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แบ่งแยกถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ เพศ อายุ สีผิว ศาสนา สภาพร่างกาย ฐานะ ชาติตระกูล ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเฝ้าระวังการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิทธิมนุษยชนภายในบริษัทฯ และส่งเสริมให้บริษัทฯ และพันธมิตรทางธุรกิจปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนของมาตรฐานสากลต่าง ๆ เป็นต้น
บริษัทฯ กำหนดกระบวนการตรวจสอบและจัดการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านและครอบคลุม ได้แก่
6. ความเสี่ยงที่เกิดใหม่ (Emerging Risk)
จากการติดตามสถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ ตระหนักและให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงที่เกิดใหม่ ได้แก่ ความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
6.1 ความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
หมวดหมู่ความเสี่ยง : ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน
ที่มาและลักษณะของความเสี่ยง : ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เกิดจากทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจ สีเขียว ซึ่งหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ตามเป้าหมายความตกลงปารีส (2015 Paris Agreement ) ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ได้แก่
ด้านนโยบาย - ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ด้านกฎหมาย - รัฐบาลกำลังเตรียมออกพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Act) ซึ่งจะเป็นมาตรฐานกลางในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (Thailand Taxonomy) รวมถึงการใช้มาตรฐานสากลเกี่ยวกับรายงานทางการเงิน (IFRS) เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใสในการดำเนินงาน
ด้านเทคโนโลยี - การพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำจะครอบคลุมการใช้พลังงานหมุนเวียน การพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานต่ำ ไม่ก่อมลพิษ รวมถึงการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บคาร์บอน
ด้านพฤติกรรมผู้บริโภค - ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับองค์กรและสินค้าบริการที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีความต้องการสินค้าบริการดังกล่าวเพิ่มขึ้น และพร้อมที่จะจ่ายในราคาที่สูงกว่าเพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบต่อบริษัทฯ : จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎระเบียบที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การเรียกเก็บภาษีคาร์บอน และการใช้คาร์บอนเครดิต แม้ว่าธุรกิจของบริษัทฯ จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ถูกกำกับดูแลโดยตรง แต่เมื่อมีการบังคับใช้ในวงกว้าง จะส่งผลให้เกิดต้นทุนเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจทำให้บริษัทฯ ต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาดและพัฒนาบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและรักษาความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนเหล่านี้ยังถือเป็นโอกาสสำหรับบริษัทฯ ในการบริหารต้นทุน พัฒนาตำแหน่งทางการตลาด หรือสร้างธุรกิจใหม่ของบริษัทฯ ได้เช่นกัน
ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย : หากบริษัทฯ ไม่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความจริงจังในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผู้มีส่วนได้เสียสำคัญ เช่น ลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้น อาจขาดความเชื่อมั่นต่อความเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัทฯ นอกจากนี้ยังอาจทำให้ความเชื่อมั่นในการใช้สินค้าและบริการ รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับบริษัทฯ ลดลงอีกด้วย
มาตรการจัดการความเสี่ยง : บริษัทฯ ตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนี้ จึงได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดย
2.2.2 ความเสี่ยงต่อการลงทุนของผู้ถือหลักทรัพย์
1. ความเสี่ยงด้านเครดิตจากการผิดนัดชำระหนี้
บริษัทฯ ตระหนักถึงความเสี่ยงด้านเครดิตจากการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ออกตราสารทางการเงิน อาจไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ย หรือไม่สามารถชําระคืนเงินต้น ซึ่งตราสารทางการเงินที่เสนอขายนั้น ไม่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยผู้ถือตราสารทางการเงินจะมีสิทธิในการขอรับชําระหนี้เท่าเทียมกับเจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันรายอื่น อย่างไรก็ตามในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้นั้น ผู้ถือหลักทรัพย์สามารถดูการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ที่จัดทําโดยสถาบันจัดอันดับความเสี่ยงประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ นอกจากนี้ผู้ถือหลักทรัพย์ควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน ได้แก่ ผลการดําเนินงานและฐานะทางการเงินของผู้ออกตราสารทางการเงินด้วย และควรติดตามข้อมูล ข่าวสาร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้จากเว็บไซต์สํานักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) หรือสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยในปี 2567 บริษัท ทริสเรทติ้ง จํากัด ได้ปรับลดอันดับเครดิตองค์กรเป็นระดับ BBB- จากเดิม BBB เนื่องจากภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนจำนวนมากและอัตรากำไรที่อ่อนตัวลง
2. ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้น
จากภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นปัจจุบันซึ่งมีความผันผวนสูง ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้ลงทุนอาจไม่สามารถขายหุ้นของบริษัทฯ ต่อในราคาที่เท่ากับหรือสูงกว่าราคาที่ซื้อมาได้ โดยราคาหุ้นของบริษัทฯ อาจขยับขึ้นลงอยู่ในกรอบราคาที่ค่อนข้างกว้าง ซึ่งเกิดจากปัจจัยที่ส่งผลหลายประการ ตัวอย่างเช่น
2.2.3 ความเสี่ยงต่อการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
-ไม่มี-
เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ โปรดยอมรับนโยบายคุกกี้เพื่อประสบการณ์การใช้บริการที่ดีที่สุดของท่าน ท่านสามารถศึกษาวิธีการตั้งค่าการควบคุมคุกกี้ของท่านผ่าน นโยบายการใช้คุกกี้ของเราที่นี่